วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การถอดบทเรียนก่อนจะเข้าร่วมงาน13thHA National Forum(1)


การถอดบทเรียนก่อนจะเข้าร่วมงาน13thHA National Forum(1)

                สำหรับบันทึกนี้ พี่ขอส่ง ดร.ขจิตทางบล็อกก็แล้วกันนะคะ เพราะไม่สามารถไปร่วมงานได้ เนื่องจากภารกิจเกี่ยวกับงานที่ต้องปฏิบัติมากเหลือเกินในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยมอบหมายให้กองปฏิบัติงานเรื่องอัตรากำลัง การสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย การเปิดรับสมัคร กระบวนการสอบ การปฐมนิเทศ ฯลฯ เรียกว่า เป็นช่วงของงานบุคคลจริง ๆ ค่ะ จะมีเวลาว่างไม่บ่อยเลยค่ะ มีแต่งาน ๆ ๆ ๆ สงสัยจะจัดความสมดุลให้กับชีวิตไม่ได้แล้วกระมังค่ะ คริ ๆ ๆ...พี่ขอเริ่มเรื่องเลยนะคะ...

                ก่อนที่จะมาเขียนบันทึกชีวิตเป็นอย่างไรนั้น สำหรับผู้เขียนได้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเรื่องงานการเจ้าหน้าที่หรืองานบุคคลมาตลอด เรียกว่า ตลอดชีวิตของการทำงานก็ว่าได้ แต่ก็ได้เคยปฏิบัติงานด้านบริหารทั่วไปบ้าง งานแผนและงบประมาณบ้าง งานด้านศึกษานิเทศก์บ้าง (ในคราวที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอค่ะ)...ท่านใดสนใจว่าผู้เขียนมีประวัติความเป็นมาอย่างไร สามารถอ่านประวัติของผู้เขียนได้จากที่นี่ค่ะ... “ประสบการณ์ชีวิตของการทำงาน “รับราชการ” เพราะผู้เขียนตั้งใจเขียนไว้เมื่อผู้เขียนสิ้นชีวิตลง ลูก ๆ จะได้ไม่ต้องไปหาประวัติจากที่ไหน เพราะแม่เขียนไว้ให้แล้วค่ะ...อาจเรียกว่า ชีวิตของผู้เขียนที่มายืนอยู่ได้ในตำแหน่งผู้บริหารในระดับหนึ่งนี้ได้มาจากความรู้ + ความสามารถ + การสนับสนุนของครอบครัวผู้เขียนเอง นับว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างมหันต์ก็ว่าได้ เพราะการเป็นผู้หญิง ขึ้นมาอยู่ ณ ตำแหน่งปัจจุบันนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย การที่ผู้เขียนเป็นอยู่ ณ วันนี้ ก็ต้องขอขอบคุณพ่อบ้านและครอบครัวของผู้เขียนที่ให้การสนับสนุนและคอยเกื้อกูลให้กำลังใจกันมาตลอด เรียกว่า “คนข้างหลัง” เป็นแรงใจ คอยหนุนและเป็นฐานที่มั่นคงให้ผู้เขียนได้มายืนอยู่ใน ณ จุดนี้ได้ ต้องขอขอบคุณจากใจจริง ๆ...สามารถอ่านผู้ที่อยู่เบื้องหลังครอบครัวได้จากที่นี่ ”นักวางแผนชีวิตครอบครัว” เพราะการที่ตัวเราจะมายืนในที่สูงได้ ถ้าฐานครอบครัวไม่แข็งแรงและมั่นคงแล้วละก็ ผู้เขียนคิดว่า สักวันมันจะต้องล้มลงอย่างแน่นอน...

          การเขียนบันทึกแล้วได้ผลดี คือ ได้กัลยาณมิตรที่ดี ได้รู้จักผู้ที่ตัวเราไม่เคยได้รู้จักมาก่อน มาเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง มีความเป็นกันเองเสมือนกับการได้รู้จักกันตัวต่อตัว และทำให้รู้ว่า การที่เรายิ่งเขียนบันทึกมากเท่าใด เรากลับได้บางสิ่งที่ได้มา นั่นคือ “ความสุขใจ” ความสุขเนื่องจากการให้ และทำให้เรายิ่งเขียน ยิ่งคิดได้มากขึ้น สามารถเขียนเรื่องอื่น ๆ ได้มากขึ้น สามารถโยงเรื่องราวได้มากขึ้น เรียกว่า “ความคิดแตกยอด”...ดีกว่าเราเก็บความรู้ที่เรารู้นั้นเก็บไว้กับตัวเองเพียงฝ่ายเดียว ถ้าเราได้นำมาแบ่งปัน จะทำให้เกิดผลดีต่อสังคม ประเทศชาติ เพราะบางเรื่องที่ดี ๆ ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตของตัวเขาเองได้ ทำให้สังคมเข็มแข็งและแข็งแกร่งขึ้นได้ ในเมื่อสังคม ชุมชนเข้มแข็งแล้ว ก็จะมีผลต่อประเทศชาติมีความมั่นคงและเข้มแข็งในที่สุด และเรื่องราวบางเรื่องที่เราเขียนสามารถเป็นอุทธาหรณ์หรือเตือนสติ ให้ข้อคิดกับผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย

          การทำงานของผู้เขียนมีทั้งงานในด้านปฏิบัติและงานด้านเชิงบริหาร ได้เข้ามาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ก็ประมาณเกือบ 8 ปี แล้ว สำหรับการเข้ามาอยู่ที่มหาวิทยาลัย ผู้เขียนต้องปรับตัวมาก ๆ ในด้านความรู้ บริบทของมหาวิทยาลัย วัฒนธรรมองค์กร ค่านิยมของคนในมหาวิทยาลัย และอีกหลาย ๆ เรื่อง แต่ผู้เขียนก็สามารถปรับตัวเองให้อยู่ในมหาวิทยาลัยได้ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนไม่ปล่อยให้เสียเวลาไป นั่นคือ การเรียนรู้ เพราะผู้เขียนเป็นผู้ใฝ่เรียน ใฝ่รู้มาตั้งแต่เริ่มบรรจุเข้ารับราชการแล้ว ทุกช่วงเวลา ทุกขณะที่ปฏิบัติงาน ผู้เขียนจะหมั่นศึกษา ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพราะผู้เขียนคิดว่า ยิ่งอ่าน ยิ่งรู้ และเมื่อมาอยู่ที่ มรภ.พิบูลสงคราม แล้วละก็ ผู้เขียนยิ่งต้องเรียนรู้ให้มาก ๆ ผู้เขียนก็ได้เรียนจาก e – Learning ของ สำนักงาน ก.พ. ดูหลักสูตรของผู้เขียนที่เรียนจบได้จากที่นี่...หลักสูตร e - Learning ของสำนักงาน ก.พ + ประวัติส่วนตัว ....(การเรียนหลักสูตรนี้ ไม่ใช่เป็นการเรียนในเชิงทฤษฎีอย่างเดียว แต่สามารถนำไปบูรณาการและปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของงานได้อย่างดีทีเดียว)...เพราะเป็นช่วงที่การบริหารภาครัฐเกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนได้เรียนรู้และสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้และบูรณาการให้เข้ากับการทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการกองบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย สามารถมีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าให้คำปรึกษาต่อผู้บริหารของมหาวิทยาลัย และเป็นผู้นำของกอง นำพากองให้เติบโตขึ้นได้โดยทีมงานและสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนให้กับมหาวิทยาลัยได้อีกแรงหนึ่ง...

                ผู้เขียนได้เข้ามาเรียนรู้จากเรื่องต่าง ๆ อีกในเว็บไซด์ Gotoknow ได้รู้จักพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ มากมายในเว็บนี้ ได้รับความรู้ และก็นำความรู้ที่ตนเองมีอยู่และเคยได้รับมา มาเผยแพร่ให้กับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ใน Gotoknow ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติงานในหน้าที่และงานใหม่ ๆ ที่ได้เคยปฏิบัติอยู่และนำมาแบ่งปัน เช่น เรื่องเครื่องแบบพิธีการของพนักงานราชการ พ.ศ.2552 อ่านได้จากที่นี่...เครื่องแบบพิธีการของพนักงานราชการ พ.ศ.2552...เรียกว่าเป็นบล็อกที่มีความเคลื่อนไหวทุก ๆ วัน เรียกว่า วันละเป็นร้อยกว่าหรือมากกว่านั้นของจำนวนผู้อ่านซึ่งแสดงให้เห็นว่า บล็อกที่ผู้เขียนเขียนนั้นเป็นประโยชน์ต่อน้อง ๆ ที่ทำงานให้กับภาครัฐเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้เขียนเกิดความคิดว่า การที่เราได้เขียนบล็อกนั้นเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาที่เข้ามาอ่านเป็นอย่างมาก เพราะในช่วงเวลา 2 ปีกว่านี้ ผู้เข้ามาอ่านก็เกือบ 200,000 เป็นบล็อกแรกของชีวิตก็ว่าได้...และก็คงจะทำต่อไปจนกว่าจะเกษียณอายุราชการอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้านี้...

                สำหรับเครือข่ายที่เกิดขึ้น ๆ จากการได้เข้าไปอ่าน การเข้ามาเยี่ยมจากพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ใน Gotoknow การเข้าไปอ่านบล็อกของท่านอื่น ๆ การได้รับความรู้จากการอ่าน การให้ดอกไม้กำลังใจ ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักกันไปโดยปริยาย...สามารถเป็นมิตรที่ให้คำปรึกษา เป็นเพื่อนที่ดีในการทำงานได้อีกช่องทางหนึ่ง สำหรับเนื้อเรื่องที่นำมาเขียนของผู้เขียนจะเป็นลักษณะการนำเรื่องที่ตัวเราได้รับความรู้นำมาแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ได้อ่านเสียมากกว่า เพราะผู้เขียนคิดว่า “ยิ่งให้ ก็ยิ่งได้” (มิใช่หมายถึงได้รางวัลหรือสิ่งตอบแทน) แต่เป็นการได้ความสุขทางใจ...”ความสุขจากการเป็นผู้ให้”...

                สิ่งที่คาดว่าจะทำต่อไปในอนาคต นั่นคือ การได้เรียนรู้ เรียกว่า เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในเรื่องงาน เรียนรู้ในเรื่องการใช้ชีวิตของตนเองและครอบครัว เพราะตลอดชีวิตของคนเราต้องมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่า เราจะจัดสรรหรือแบ่งเวลาของการทำงานและชีวิตของเราให้เกิดความสมดุลได้อย่างไร?...และก็จะเขียนบทความที่เกี่ยวกับเรื่องงานหรือเรื่องราวชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ดี ๆ ต่อไปจนกว่าจะเกษียณอายุราชการภายในอีก 10 ปีข้างหน้านี้...อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากทำในวาระสุดท้ายของชีวิต นั่นคือ การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก – หลาน ได้เห็นในเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้เขียนเอง จะได้เป็นแบบอย่างให้กับลูก – หลานได้ เพราะตลอดชีวิตของผู้เขียนเรียกว่ามีแต่ “งาน ๆ ๆ”...แต่ในลักษณะของงานแล้ว ตัวเราก็ต้องจัดสรรเวลาให้กับครอบครัว การเป็นที่ปรึกษาให้กับลูก – หลาน การให้ความอบอุ่น ให้กำลังใจให้กับครอบครัว เพราะอย่าลืมว่า!!!  คนเราจะขึ้นที่สูงแล้ว ฐานรากของเรา นั่นคือ “ครอบครัว”ต้องมีความมั่นคงและแข็งแรงเสียก่อน จึงจะทำให้เรามายืนอย่างผงาดได้...

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น