วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ความไม่รู้เป็นบ่อเกิดแห่งความรู้


คุณค่าแห่งชีวิต : ความไม่รู้เป็นบ่อเกิดแห่งความรู้
      ผู้เขียนเป็นอีกคนที่เป็นหนึ่งในสมาชิกบ้าน Gotoknow.org แห่งนี้ แม้ว่าผู้เขียนเองยอมรับว่าช่วงนี้ผลงานจากการเขียนค่อนข้างน้อย แต่ด้วยมนต์เสน่ห์แห่งไมตรีจิตบนโลกแห่งการเรียนรู้ออนไลน์แห่งนี้ ทำให้ผู้เขียน เข้าๆ ออกๆ ใน Gotoknow.org ทุกวันเป็นเวลากว่า 2 ปีมาแล้ว และนับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เขียนขอร่วมวงในการถอดบทเรียนชีวิตบนโลกออนไลน์แห่งนี้ ในหัวข้อ คุณค่าแห่งชีวิต ที่จะตอบโจทย์ข้อแรกนั่นคือ ก่อนมาเรียนรู้ใน Gotoknow.org แห่งนี้ ชีวิตการทำงานเป็นอย่างไร
         1. เริ่มต้นจากความไม่รู้    จุดใหญ่ที่หลายคนมักจะมึนหรืองง แน่ละ ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ มึน งง เมื่อแรกที่เข้ามาพบเว็บนี้ใหม่ๆ ด้วยความไม่รู้ แรกๆ ตั้งใจว่าจะเข้ามาแค่สมัครเป็นสมาชิกเท่านั้น พูดอย่างนี้ อาจารย์จันและผู้ดูแลระบบ คงไม่โกรธนะครับ ที่บอกว่าเข้ามาเพื่อสมัครเป็นสมาชิกเท่านั้น นั่นเพราะไม่รู้จะเขียนอะไร ไม่รู้ว่าจะถ่ายทอดอย่างไร และจะเล่าเรื่องอย่างไรให้น่าติดตาม สำหรับคนที่ใช้ทักษะพูดมากกว่าเขียน มักจะเห็นว่า งานเขียนนั้นยาก และสำหรับคนที่ใช้ทักษะเขียนมากกว่าพูด มักจะมองกลับกันว่า การพูดนั้นยาก ซึ่งจริงๆ แล้วยากพอๆ กัน เพราะว่าทั้งสอง เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ผู้เขียนเองก็เช่นกัน ล้มลุกคลุกคลาน จะเขียนอย่างไร นำเสนออย่างไร มึนๆ งงๆ เพราะไม่เป็น เรียกว่าขาดทักษะการสื่อสารที่ดีก็ว่าได้ ผู้เขียนมักได้ยินได้ฟัง คำวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆ คน ทั้งชอบและไม่ชอบ และผลตอบรับทั้งดีและร้าย นั่นคือทุกสิ่งเริ่มต้นจากความไม่รู้ของผู้เขียน ที่ไม่รู้ว่า ผ่านมาเกือบ 2 ปีกว่าๆ แล้ว งานเขียนของผู้เขียนยังมีคนอ่านอยู่ และมีผู้ติดตามและชื่นชอบอยู่เช่นกัน   
     ความไม่รู้ นี่ มีผลเหมือนกันทั้งในด้านบวกและลบ ส่วนมากจะลบมากกว่าบวก สิ่งที่ผู้เขียนทำคือ ทำความไม่รู้ให้เป็นความรู้ ทำเรื่องที่รู้ให้รู้ยิ่งขึ้น และปรับใช้กับตนเอง มันเป็นเรื่องยากเหมือนกัน สำหรับผู้เขียนเอง แต่ผู้เขียนคิดว่ามันคงไม่ยากเกินไปหากเราจะเรียนรู้ ผู้เขียนเริ่มฝึกการอ่าน ทุกวัน เริ่มจากการอ่านในเรื่องที่เราชอบก่อน เมื่ออ่านหลายๆ ครั้ง ทำให้ผู้เขียนเรียนรู้ตัวเองว่าผู้เขียน ชอบอ่านเรื่องราวในแนวใดบ้าง นั่นคือสไตล์ส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งเมื่อจับจุดได้แล้ว เราก็จะติดตามผลงานของนักเขียนคนนั้นอยู่เสมอ เรียกว่า เป็นขวัญใจเลยทีเดียวก็ว่าได้ ซึ่งสำหรับตัวผู้เขียนเองนั้นก็มีนักเขียนที่เป็นขวัญใจอยู่หลายคนเช่นกัน (อาทิ พี่ก้ามกุ้ง, พี่กะปุ๋ม และอีกหลายท่าน) ทีนี้ผู้เขียนพบว่า เมื่อเราอ่านเรื่องในแนวนี้ไปเรื่อยๆ เราสามารถปรับตัวและฝึกตัวเองให้รักการอ่านได้แล้ว เราจะสามารถอ่านเรื่องราวในแนวอื่นๆ ได้ดี และสามารถจับประเด็นเรื่องราวที่ได้อ่านได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าเพราะจุดเริ่มต้นเล็กๆ คือความไม่รู้ ที่สามารถทำมาใช้กับการทำงาน ทำให้ผู้เขียนอ่านเอกสารอย่างพินิจมากขึ้น สิ่งนี้เกิดจากความไม่รู้ที่ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้จนเกิดเป็นความรู้นั่นเอง
      2. จากความไม่รู้สู่การปรับและเปลี่ยน เปลี่ยนและปรับ คำถามนี้เกิดขึ้นในใจผู้เขียนตลอดเวลา บางครั้งผู้เขียนถามตนเองว่าทำไมต้องเปลี่ยน ต้องปรับ คำตอบที่ได้เรียนรู้ในครั้งนั้นคือการพัฒนา เปลี่ยนและปรับเพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้น เป็นรากฐานที่ทำให้ผู้เขียนมาเขียน ณ ที่แห่งนี้ การปรับนับแต่เริ่มแรก ผู้เขียนคิดว่า สามารถจะไปปรับหรือเปลี่ยนอะไรๆ บางอย่างได้ตามประสาผู้เขียนเอง ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดโดยแท้ เพราะการปรับหรือการเปลี่ยนนั้น อยู่ที่ตัวเราเอง เพราะในโลกนี้ หาอะไรที่มีความพอดีได้ยาก จนกว่าเมื่อเราหยุดหา เราถึงจะเห็นว่าตรงนั้นพอดีที่สุด นั่นคือ การพัฒนาที่ผู้เขียนได้รับจากการเรียนรู้ การปรับที่เปลี่ยนผู้เขียนได้ นั่นคือ อารมณ์  ดังจะเห็นได้จากงานเชียนแรกๆ มักจะใส่อารมณ์ในงานเขียนมาก แต่หลังจากที่ได้เรียนรู้ทำให้ผู้เขียนเห็นว่า งานเชียนที่ดี ไม่ใช่ที่ระบายอารมณ์ ดังนั้นการปรับอารมณ์ก่อนที่จะเขียนเป็นเรื่องที่ยากพอดูเหมือนกันสำหรับผู้เขียนเอง เพราะกว่าจะเข้าที่ลงตัว ผู้เขียนพยายามฝึกฝนโดยไม่ใส่อารมณ์ของตนเข้าไปในงานเขียนเรื่องราว หรือสอดแทรกให้น้อยที่สุด ทำให้งานเขียนเริ่มมีน้ำหนักคือมีเนื้อหาสาระ มีความลงตัวมากที่สุด ปรับอีกอย่าง นั่นคือ การปรับตัว หลังจากปรับอารมณ์มาแล้ว ผู้เขียนนำเรื่องนี้ไปใช้ในการทำงาน ผลคือสามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้มาก นั่นคือ การรู้เนื้อรู้ตัวอยู่เสมอว่า อยู่ในภาวะอารมณ์ใด การรู้ตรงนี้ เป็นผลดี ทำให้ไม่ยึดติดกับอารมณ์นั้น การโมโห หรือไม่พอใจก็เริ่มน้อยลง เริ่มมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เป็น สิ่งที่มีอยู่ นับว่า การเรียนรู้ใน Gotoknow.org แห่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ และปรับใช้กับตนเองได้
     3. เพื่อการทำงานที่ลงตัว สำหรับงานทำงาน ผู้เขียนเองพูดได้ว่า ก่อนมาเรียนรู้ที่แห่งนี้ ผู้เขียนมีคำพูดหนึ่งที่ว่า "ทุกอย่างทำได้ ทำไมคนอื่นถึงไม่ทำ" นั่นเพราะ ผู้เขียนมองแต่คนอื่นตลอดเวลา จนลืมมองดูตนเอง ทำให้การทำงานไม่ลงตัว เพราะไม่พอใจในสิ่งที่เป็น เข้าใจว่ามันไม่พัฒนา แต่พอมาเรียนรู้ที่ Gotoknow.org แห่งนี้ เริ่มทำให้ผู้เขียนเปลี่ยนความคิดจากมองคนอื่นกลายเป็นมองตนเอง ผู้เขียนคิดว่า "ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ แต่เราสามารถทำให้มันสมบูรณ์แบบได้ อยู่ที่ตัวเราเอง" ด้วยเหตุนี้ การทำงานที่วุ่นวายเพราะจิตใจมันเป็นสุข เพราะว่ามันไม่พอ ไม่ลงตัว  ทำให้ผู้เขียนเริ่มมองตนเองใหม่ เริ่มมองเห็นคุณค่าของงานที่ทำมากขึ้นและหันมาพัฒนาจิตใจของตนเองโดยการคุมอารมณ์ ปรับตามสภาวะที่เป็น ที่กระทบอยู่ได้ แต่ก็ยังมีบางครั้งที่ความรู้สึกไม่ดีหรืออารมณ์รุนแรงหลุดรอดออกมาเนื่องจากความเผลอหรือลืมตัวของผู้เขียนเอง ทำให้กระทบกับผู้อื่น ซึ่งทำให้ผู้เขียนเองรู้สึกเสียใจอยู่เสมอ และพยายามฝึกฝนต่อไป
    ที่กล่าวมานั้น ทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสประสบการณ์ทั้งก่อนหน้าและหลังจากที่เรียนรู้ใน Gotoknow.org ซึ่งแม้ผ่านมา 2 ปี แต่ Gotoknow.org นับเป็นก้าวแรกของผู้เขียนที่ได้พัฒนาจากความไม่รู้กลายเป็นความรู้ ที่ไม่ใช่ความรู้ที่นำมาพัฒนางานได้อย่างเดียว หากแต่เป็นความรู้ที่มีคุณค่า นำมาพัฒนาตนเองโดยแท้จริง

1 ความคิดเห็น:

  1. เว็บบล็อกนักศึกษาปริญญาเอก การจัดการเทคโนโลยี รุ่นที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

    ผศ.ดร.ปรัชญนันท์ นิลสุข
    http://prachyanun.blogspot.com
    ภูไท ช่อเหมือน
    http://chormuan.blogspot.com
    ทศพล เมืองฮาม
    http://todsphon.blogspot.com
    สมเกียรติ ฮุ้นสกุล
    http://somkaithoon.blogspot.com
    ผศ.วันชัย ซันประสิทธิ์
    http://wanchai45.blogspot.com
    ชนากานต์ อินทรสร
    http://chanakarn-intrasorn.blogspot.com
    สุขุม หลานไทย
    http://myblogsukhom.blogspot.com
    ชิน จินตประยูร
    http://aussieshin.blogspot.com

    ตอบลบ