วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ความไม่รู้เป็นบ่อเกิดแห่งความรู้


คุณค่าแห่งชีวิต : ความไม่รู้เป็นบ่อเกิดแห่งความรู้
      ผู้เขียนเป็นอีกคนที่เป็นหนึ่งในสมาชิกบ้าน Gotoknow.org แห่งนี้ แม้ว่าผู้เขียนเองยอมรับว่าช่วงนี้ผลงานจากการเขียนค่อนข้างน้อย แต่ด้วยมนต์เสน่ห์แห่งไมตรีจิตบนโลกแห่งการเรียนรู้ออนไลน์แห่งนี้ ทำให้ผู้เขียน เข้าๆ ออกๆ ใน Gotoknow.org ทุกวันเป็นเวลากว่า 2 ปีมาแล้ว และนับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เขียนขอร่วมวงในการถอดบทเรียนชีวิตบนโลกออนไลน์แห่งนี้ ในหัวข้อ คุณค่าแห่งชีวิต ที่จะตอบโจทย์ข้อแรกนั่นคือ ก่อนมาเรียนรู้ใน Gotoknow.org แห่งนี้ ชีวิตการทำงานเป็นอย่างไร
         1. เริ่มต้นจากความไม่รู้    จุดใหญ่ที่หลายคนมักจะมึนหรืองง แน่ละ ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ มึน งง เมื่อแรกที่เข้ามาพบเว็บนี้ใหม่ๆ ด้วยความไม่รู้ แรกๆ ตั้งใจว่าจะเข้ามาแค่สมัครเป็นสมาชิกเท่านั้น พูดอย่างนี้ อาจารย์จันและผู้ดูแลระบบ คงไม่โกรธนะครับ ที่บอกว่าเข้ามาเพื่อสมัครเป็นสมาชิกเท่านั้น นั่นเพราะไม่รู้จะเขียนอะไร ไม่รู้ว่าจะถ่ายทอดอย่างไร และจะเล่าเรื่องอย่างไรให้น่าติดตาม สำหรับคนที่ใช้ทักษะพูดมากกว่าเขียน มักจะเห็นว่า งานเขียนนั้นยาก และสำหรับคนที่ใช้ทักษะเขียนมากกว่าพูด มักจะมองกลับกันว่า การพูดนั้นยาก ซึ่งจริงๆ แล้วยากพอๆ กัน เพราะว่าทั้งสอง เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ผู้เขียนเองก็เช่นกัน ล้มลุกคลุกคลาน จะเขียนอย่างไร นำเสนออย่างไร มึนๆ งงๆ เพราะไม่เป็น เรียกว่าขาดทักษะการสื่อสารที่ดีก็ว่าได้ ผู้เขียนมักได้ยินได้ฟัง คำวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆ คน ทั้งชอบและไม่ชอบ และผลตอบรับทั้งดีและร้าย นั่นคือทุกสิ่งเริ่มต้นจากความไม่รู้ของผู้เขียน ที่ไม่รู้ว่า ผ่านมาเกือบ 2 ปีกว่าๆ แล้ว งานเขียนของผู้เขียนยังมีคนอ่านอยู่ และมีผู้ติดตามและชื่นชอบอยู่เช่นกัน   
     ความไม่รู้ นี่ มีผลเหมือนกันทั้งในด้านบวกและลบ ส่วนมากจะลบมากกว่าบวก สิ่งที่ผู้เขียนทำคือ ทำความไม่รู้ให้เป็นความรู้ ทำเรื่องที่รู้ให้รู้ยิ่งขึ้น และปรับใช้กับตนเอง มันเป็นเรื่องยากเหมือนกัน สำหรับผู้เขียนเอง แต่ผู้เขียนคิดว่ามันคงไม่ยากเกินไปหากเราจะเรียนรู้ ผู้เขียนเริ่มฝึกการอ่าน ทุกวัน เริ่มจากการอ่านในเรื่องที่เราชอบก่อน เมื่ออ่านหลายๆ ครั้ง ทำให้ผู้เขียนเรียนรู้ตัวเองว่าผู้เขียน ชอบอ่านเรื่องราวในแนวใดบ้าง นั่นคือสไตล์ส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งเมื่อจับจุดได้แล้ว เราก็จะติดตามผลงานของนักเขียนคนนั้นอยู่เสมอ เรียกว่า เป็นขวัญใจเลยทีเดียวก็ว่าได้ ซึ่งสำหรับตัวผู้เขียนเองนั้นก็มีนักเขียนที่เป็นขวัญใจอยู่หลายคนเช่นกัน (อาทิ พี่ก้ามกุ้ง, พี่กะปุ๋ม และอีกหลายท่าน) ทีนี้ผู้เขียนพบว่า เมื่อเราอ่านเรื่องในแนวนี้ไปเรื่อยๆ เราสามารถปรับตัวและฝึกตัวเองให้รักการอ่านได้แล้ว เราจะสามารถอ่านเรื่องราวในแนวอื่นๆ ได้ดี และสามารถจับประเด็นเรื่องราวที่ได้อ่านได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าเพราะจุดเริ่มต้นเล็กๆ คือความไม่รู้ ที่สามารถทำมาใช้กับการทำงาน ทำให้ผู้เขียนอ่านเอกสารอย่างพินิจมากขึ้น สิ่งนี้เกิดจากความไม่รู้ที่ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้จนเกิดเป็นความรู้นั่นเอง
      2. จากความไม่รู้สู่การปรับและเปลี่ยน เปลี่ยนและปรับ คำถามนี้เกิดขึ้นในใจผู้เขียนตลอดเวลา บางครั้งผู้เขียนถามตนเองว่าทำไมต้องเปลี่ยน ต้องปรับ คำตอบที่ได้เรียนรู้ในครั้งนั้นคือการพัฒนา เปลี่ยนและปรับเพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้น เป็นรากฐานที่ทำให้ผู้เขียนมาเขียน ณ ที่แห่งนี้ การปรับนับแต่เริ่มแรก ผู้เขียนคิดว่า สามารถจะไปปรับหรือเปลี่ยนอะไรๆ บางอย่างได้ตามประสาผู้เขียนเอง ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดโดยแท้ เพราะการปรับหรือการเปลี่ยนนั้น อยู่ที่ตัวเราเอง เพราะในโลกนี้ หาอะไรที่มีความพอดีได้ยาก จนกว่าเมื่อเราหยุดหา เราถึงจะเห็นว่าตรงนั้นพอดีที่สุด นั่นคือ การพัฒนาที่ผู้เขียนได้รับจากการเรียนรู้ การปรับที่เปลี่ยนผู้เขียนได้ นั่นคือ อารมณ์  ดังจะเห็นได้จากงานเชียนแรกๆ มักจะใส่อารมณ์ในงานเขียนมาก แต่หลังจากที่ได้เรียนรู้ทำให้ผู้เขียนเห็นว่า งานเชียนที่ดี ไม่ใช่ที่ระบายอารมณ์ ดังนั้นการปรับอารมณ์ก่อนที่จะเขียนเป็นเรื่องที่ยากพอดูเหมือนกันสำหรับผู้เขียนเอง เพราะกว่าจะเข้าที่ลงตัว ผู้เขียนพยายามฝึกฝนโดยไม่ใส่อารมณ์ของตนเข้าไปในงานเขียนเรื่องราว หรือสอดแทรกให้น้อยที่สุด ทำให้งานเขียนเริ่มมีน้ำหนักคือมีเนื้อหาสาระ มีความลงตัวมากที่สุด ปรับอีกอย่าง นั่นคือ การปรับตัว หลังจากปรับอารมณ์มาแล้ว ผู้เขียนนำเรื่องนี้ไปใช้ในการทำงาน ผลคือสามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้มาก นั่นคือ การรู้เนื้อรู้ตัวอยู่เสมอว่า อยู่ในภาวะอารมณ์ใด การรู้ตรงนี้ เป็นผลดี ทำให้ไม่ยึดติดกับอารมณ์นั้น การโมโห หรือไม่พอใจก็เริ่มน้อยลง เริ่มมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เป็น สิ่งที่มีอยู่ นับว่า การเรียนรู้ใน Gotoknow.org แห่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ และปรับใช้กับตนเองได้
     3. เพื่อการทำงานที่ลงตัว สำหรับงานทำงาน ผู้เขียนเองพูดได้ว่า ก่อนมาเรียนรู้ที่แห่งนี้ ผู้เขียนมีคำพูดหนึ่งที่ว่า "ทุกอย่างทำได้ ทำไมคนอื่นถึงไม่ทำ" นั่นเพราะ ผู้เขียนมองแต่คนอื่นตลอดเวลา จนลืมมองดูตนเอง ทำให้การทำงานไม่ลงตัว เพราะไม่พอใจในสิ่งที่เป็น เข้าใจว่ามันไม่พัฒนา แต่พอมาเรียนรู้ที่ Gotoknow.org แห่งนี้ เริ่มทำให้ผู้เขียนเปลี่ยนความคิดจากมองคนอื่นกลายเป็นมองตนเอง ผู้เขียนคิดว่า "ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ แต่เราสามารถทำให้มันสมบูรณ์แบบได้ อยู่ที่ตัวเราเอง" ด้วยเหตุนี้ การทำงานที่วุ่นวายเพราะจิตใจมันเป็นสุข เพราะว่ามันไม่พอ ไม่ลงตัว  ทำให้ผู้เขียนเริ่มมองตนเองใหม่ เริ่มมองเห็นคุณค่าของงานที่ทำมากขึ้นและหันมาพัฒนาจิตใจของตนเองโดยการคุมอารมณ์ ปรับตามสภาวะที่เป็น ที่กระทบอยู่ได้ แต่ก็ยังมีบางครั้งที่ความรู้สึกไม่ดีหรืออารมณ์รุนแรงหลุดรอดออกมาเนื่องจากความเผลอหรือลืมตัวของผู้เขียนเอง ทำให้กระทบกับผู้อื่น ซึ่งทำให้ผู้เขียนเองรู้สึกเสียใจอยู่เสมอ และพยายามฝึกฝนต่อไป
    ที่กล่าวมานั้น ทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสประสบการณ์ทั้งก่อนหน้าและหลังจากที่เรียนรู้ใน Gotoknow.org ซึ่งแม้ผ่านมา 2 ปี แต่ Gotoknow.org นับเป็นก้าวแรกของผู้เขียนที่ได้พัฒนาจากความไม่รู้กลายเป็นความรู้ ที่ไม่ใช่ความรู้ที่นำมาพัฒนางานได้อย่างเดียว หากแต่เป็นความรู้ที่มีคุณค่า นำมาพัฒนาตนเองโดยแท้จริง

การถอดบทเรียนก่อนจะเข้าร่วมงาน13thHA National Forum(1)


การถอดบทเรียนก่อนจะเข้าร่วมงาน13thHA National Forum(1)

                สำหรับบันทึกนี้ พี่ขอส่ง ดร.ขจิตทางบล็อกก็แล้วกันนะคะ เพราะไม่สามารถไปร่วมงานได้ เนื่องจากภารกิจเกี่ยวกับงานที่ต้องปฏิบัติมากเหลือเกินในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยมอบหมายให้กองปฏิบัติงานเรื่องอัตรากำลัง การสรรหาพนักงานมหาวิทยาลัย การเปิดรับสมัคร กระบวนการสอบ การปฐมนิเทศ ฯลฯ เรียกว่า เป็นช่วงของงานบุคคลจริง ๆ ค่ะ จะมีเวลาว่างไม่บ่อยเลยค่ะ มีแต่งาน ๆ ๆ ๆ สงสัยจะจัดความสมดุลให้กับชีวิตไม่ได้แล้วกระมังค่ะ คริ ๆ ๆ...พี่ขอเริ่มเรื่องเลยนะคะ...

                ก่อนที่จะมาเขียนบันทึกชีวิตเป็นอย่างไรนั้น สำหรับผู้เขียนได้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเรื่องงานการเจ้าหน้าที่หรืองานบุคคลมาตลอด เรียกว่า ตลอดชีวิตของการทำงานก็ว่าได้ แต่ก็ได้เคยปฏิบัติงานด้านบริหารทั่วไปบ้าง งานแผนและงบประมาณบ้าง งานด้านศึกษานิเทศก์บ้าง (ในคราวที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอค่ะ)...ท่านใดสนใจว่าผู้เขียนมีประวัติความเป็นมาอย่างไร สามารถอ่านประวัติของผู้เขียนได้จากที่นี่ค่ะ... “ประสบการณ์ชีวิตของการทำงาน “รับราชการ” เพราะผู้เขียนตั้งใจเขียนไว้เมื่อผู้เขียนสิ้นชีวิตลง ลูก ๆ จะได้ไม่ต้องไปหาประวัติจากที่ไหน เพราะแม่เขียนไว้ให้แล้วค่ะ...อาจเรียกว่า ชีวิตของผู้เขียนที่มายืนอยู่ได้ในตำแหน่งผู้บริหารในระดับหนึ่งนี้ได้มาจากความรู้ + ความสามารถ + การสนับสนุนของครอบครัวผู้เขียนเอง นับว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างมหันต์ก็ว่าได้ เพราะการเป็นผู้หญิง ขึ้นมาอยู่ ณ ตำแหน่งปัจจุบันนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย การที่ผู้เขียนเป็นอยู่ ณ วันนี้ ก็ต้องขอขอบคุณพ่อบ้านและครอบครัวของผู้เขียนที่ให้การสนับสนุนและคอยเกื้อกูลให้กำลังใจกันมาตลอด เรียกว่า “คนข้างหลัง” เป็นแรงใจ คอยหนุนและเป็นฐานที่มั่นคงให้ผู้เขียนได้มายืนอยู่ใน ณ จุดนี้ได้ ต้องขอขอบคุณจากใจจริง ๆ...สามารถอ่านผู้ที่อยู่เบื้องหลังครอบครัวได้จากที่นี่ ”นักวางแผนชีวิตครอบครัว” เพราะการที่ตัวเราจะมายืนในที่สูงได้ ถ้าฐานครอบครัวไม่แข็งแรงและมั่นคงแล้วละก็ ผู้เขียนคิดว่า สักวันมันจะต้องล้มลงอย่างแน่นอน...

          การเขียนบันทึกแล้วได้ผลดี คือ ได้กัลยาณมิตรที่ดี ได้รู้จักผู้ที่ตัวเราไม่เคยได้รู้จักมาก่อน มาเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง มีความเป็นกันเองเสมือนกับการได้รู้จักกันตัวต่อตัว และทำให้รู้ว่า การที่เรายิ่งเขียนบันทึกมากเท่าใด เรากลับได้บางสิ่งที่ได้มา นั่นคือ “ความสุขใจ” ความสุขเนื่องจากการให้ และทำให้เรายิ่งเขียน ยิ่งคิดได้มากขึ้น สามารถเขียนเรื่องอื่น ๆ ได้มากขึ้น สามารถโยงเรื่องราวได้มากขึ้น เรียกว่า “ความคิดแตกยอด”...ดีกว่าเราเก็บความรู้ที่เรารู้นั้นเก็บไว้กับตัวเองเพียงฝ่ายเดียว ถ้าเราได้นำมาแบ่งปัน จะทำให้เกิดผลดีต่อสังคม ประเทศชาติ เพราะบางเรื่องที่ดี ๆ ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตของตัวเขาเองได้ ทำให้สังคมเข็มแข็งและแข็งแกร่งขึ้นได้ ในเมื่อสังคม ชุมชนเข้มแข็งแล้ว ก็จะมีผลต่อประเทศชาติมีความมั่นคงและเข้มแข็งในที่สุด และเรื่องราวบางเรื่องที่เราเขียนสามารถเป็นอุทธาหรณ์หรือเตือนสติ ให้ข้อคิดกับผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย

          การทำงานของผู้เขียนมีทั้งงานในด้านปฏิบัติและงานด้านเชิงบริหาร ได้เข้ามาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ก็ประมาณเกือบ 8 ปี แล้ว สำหรับการเข้ามาอยู่ที่มหาวิทยาลัย ผู้เขียนต้องปรับตัวมาก ๆ ในด้านความรู้ บริบทของมหาวิทยาลัย วัฒนธรรมองค์กร ค่านิยมของคนในมหาวิทยาลัย และอีกหลาย ๆ เรื่อง แต่ผู้เขียนก็สามารถปรับตัวเองให้อยู่ในมหาวิทยาลัยได้ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนไม่ปล่อยให้เสียเวลาไป นั่นคือ การเรียนรู้ เพราะผู้เขียนเป็นผู้ใฝ่เรียน ใฝ่รู้มาตั้งแต่เริ่มบรรจุเข้ารับราชการแล้ว ทุกช่วงเวลา ทุกขณะที่ปฏิบัติงาน ผู้เขียนจะหมั่นศึกษา ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพราะผู้เขียนคิดว่า ยิ่งอ่าน ยิ่งรู้ และเมื่อมาอยู่ที่ มรภ.พิบูลสงคราม แล้วละก็ ผู้เขียนยิ่งต้องเรียนรู้ให้มาก ๆ ผู้เขียนก็ได้เรียนจาก e – Learning ของ สำนักงาน ก.พ. ดูหลักสูตรของผู้เขียนที่เรียนจบได้จากที่นี่...หลักสูตร e - Learning ของสำนักงาน ก.พ + ประวัติส่วนตัว ....(การเรียนหลักสูตรนี้ ไม่ใช่เป็นการเรียนในเชิงทฤษฎีอย่างเดียว แต่สามารถนำไปบูรณาการและปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของงานได้อย่างดีทีเดียว)...เพราะเป็นช่วงที่การบริหารภาครัฐเกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนได้เรียนรู้และสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้และบูรณาการให้เข้ากับการทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการกองบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย สามารถมีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าให้คำปรึกษาต่อผู้บริหารของมหาวิทยาลัย และเป็นผู้นำของกอง นำพากองให้เติบโตขึ้นได้โดยทีมงานและสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนให้กับมหาวิทยาลัยได้อีกแรงหนึ่ง...

                ผู้เขียนได้เข้ามาเรียนรู้จากเรื่องต่าง ๆ อีกในเว็บไซด์ Gotoknow ได้รู้จักพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ มากมายในเว็บนี้ ได้รับความรู้ และก็นำความรู้ที่ตนเองมีอยู่และเคยได้รับมา มาเผยแพร่ให้กับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ใน Gotoknow ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติงานในหน้าที่และงานใหม่ ๆ ที่ได้เคยปฏิบัติอยู่และนำมาแบ่งปัน เช่น เรื่องเครื่องแบบพิธีการของพนักงานราชการ พ.ศ.2552 อ่านได้จากที่นี่...เครื่องแบบพิธีการของพนักงานราชการ พ.ศ.2552...เรียกว่าเป็นบล็อกที่มีความเคลื่อนไหวทุก ๆ วัน เรียกว่า วันละเป็นร้อยกว่าหรือมากกว่านั้นของจำนวนผู้อ่านซึ่งแสดงให้เห็นว่า บล็อกที่ผู้เขียนเขียนนั้นเป็นประโยชน์ต่อน้อง ๆ ที่ทำงานให้กับภาครัฐเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้เขียนเกิดความคิดว่า การที่เราได้เขียนบล็อกนั้นเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาที่เข้ามาอ่านเป็นอย่างมาก เพราะในช่วงเวลา 2 ปีกว่านี้ ผู้เข้ามาอ่านก็เกือบ 200,000 เป็นบล็อกแรกของชีวิตก็ว่าได้...และก็คงจะทำต่อไปจนกว่าจะเกษียณอายุราชการอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้านี้...

                สำหรับเครือข่ายที่เกิดขึ้น ๆ จากการได้เข้าไปอ่าน การเข้ามาเยี่ยมจากพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ใน Gotoknow การเข้าไปอ่านบล็อกของท่านอื่น ๆ การได้รับความรู้จากการอ่าน การให้ดอกไม้กำลังใจ ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักกันไปโดยปริยาย...สามารถเป็นมิตรที่ให้คำปรึกษา เป็นเพื่อนที่ดีในการทำงานได้อีกช่องทางหนึ่ง สำหรับเนื้อเรื่องที่นำมาเขียนของผู้เขียนจะเป็นลักษณะการนำเรื่องที่ตัวเราได้รับความรู้นำมาแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ได้อ่านเสียมากกว่า เพราะผู้เขียนคิดว่า “ยิ่งให้ ก็ยิ่งได้” (มิใช่หมายถึงได้รางวัลหรือสิ่งตอบแทน) แต่เป็นการได้ความสุขทางใจ...”ความสุขจากการเป็นผู้ให้”...

                สิ่งที่คาดว่าจะทำต่อไปในอนาคต นั่นคือ การได้เรียนรู้ เรียกว่า เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในเรื่องงาน เรียนรู้ในเรื่องการใช้ชีวิตของตนเองและครอบครัว เพราะตลอดชีวิตของคนเราต้องมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่า เราจะจัดสรรหรือแบ่งเวลาของการทำงานและชีวิตของเราให้เกิดความสมดุลได้อย่างไร?...และก็จะเขียนบทความที่เกี่ยวกับเรื่องงานหรือเรื่องราวชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ดี ๆ ต่อไปจนกว่าจะเกษียณอายุราชการภายในอีก 10 ปีข้างหน้านี้...อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากทำในวาระสุดท้ายของชีวิต นั่นคือ การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก – หลาน ได้เห็นในเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้เขียนเอง จะได้เป็นแบบอย่างให้กับลูก – หลานได้ เพราะตลอดชีวิตของผู้เขียนเรียกว่ามีแต่ “งาน ๆ ๆ”...แต่ในลักษณะของงานแล้ว ตัวเราก็ต้องจัดสรรเวลาให้กับครอบครัว การเป็นที่ปรึกษาให้กับลูก – หลาน การให้ความอบอุ่น ให้กำลังใจให้กับครอบครัว เพราะอย่าลืมว่า!!!  คนเราจะขึ้นที่สูงแล้ว ฐานรากของเรา นั่นคือ “ครอบครัว”ต้องมีความมั่นคงและแข็งแรงเสียก่อน จึงจะทำให้เรามายืนอย่างผงาดได้...